แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - medium

หน้า: [1]
1
                                                                                                   สังเขปประวัติ
      หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นับเป็นศิษย์อาวุโสรุ่นแรกสุดของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายอรัญญวาสีในยุคปัจจุบัน
พระเถระที่เป็นสหธรรมิก และมีอายุรุ่นเดียวกันกับหลวงปู่ดูลย์ ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
และหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี ด้วยความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงมีศิษย์สำคัญๆหลายองค์ ศิษย์รุ่นแรกๆก็มีหลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี หลวงปู่สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์ และพระเทพสุธาจารย์(หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน)
วัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
 
     สำหรับศิษย์อาวุโสของหลวงปู่ดูลย์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระวิสุทธิธรรมรังสี(หลวงพ่อเปลี่ยน โอภาโส) วัดป่าโยธาประสิทธิ์
จ.สุรินทร์ พระชินวงศาจารย์ วัดกระดึงทอง จ.บุรีรัมย์ หลวงพ่อสุวัจน์ สุวโจ วัดถ้ำศรีแก้ว จ.สกลนคร และพระโพธินันทมุนี วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ เป็นต้น

     หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นพระอริยเจ้าที่มีคุณธรรมล้ำลึก ท่านเน้นการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาสั่งสอน สำหรับพระสงฆ์และญาติโยมที่เข้าไปกราบนมัสการและขอฟังธรรมะ หลวงปู่มักจะให้ธรรมะสั้นๆ แต่มีความล้ำลึกสูงชั้นเสมอ ท่านจะเทศน์เรื่องจิตเพียงอย่างเดียว โดยจะย้ำให้เราพิจารณาจิตในจิตอยู่เสมอ

     หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เกิดปีชวด วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ ที่บ้านปราสาท ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ท่านเกิดในตระกูล"เกษมสินธุ์"
เป็นบุตรคนหัวปี ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คน เมื่ออายุ ๒๒ ปี หลวงปู่ได้อุปสมบทที่วัดจุมพลสุทธาวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์
โดยมีท่านพระครูวิมลศีลพรต(ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในพรรษาที่ ๖ หลวงปู่ได้เดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดอุบลราชธานี พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม เพื่อเรียนปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี แล้วเรียนบาลีไวยกรณ์ต่อ ถึงแปลมูลกัจจายน์ได้

     หลวงปู่ได้รู้จักและชอบพอกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนามของแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม
ในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทำการเผยแพร่ธรรมะในสายพุทโธ จนแพร่หลายมาตราบทุกวันนี้
ในปีที่ ๒ ที่หลวงปู่ไปพำนักอยู่ที่ จ.อุบลราชธานีนั้น หลวงปู่มั่นได้ธุดงค์ไปพำนักอยู่ที่วัดบูรพา ในเมืองอุบลราชธานี หลวงปู่สิงห์และ
หลวงปู่ดูลย์ พระหนุ่มสองสหายผู้ใคร่ธรรม ได้ไปกราบฟังธรรมจากพระอาจารย์ใหญ่ทุกวัน เกิดความอัศจรรย์และศรัทธาเป็นที่ยิ่ง
จึงตัดสินใจเลิกละเรียนด้านปริยัติธรรม แล้วออกธุดงค์ตามป่าเขาติดตามหลวงปู่มั่นไปในที่ต่างๆอยู่นานปี
 
     หลวงปู่ดูลย์เที่ยวธุดงค์หาความวิเวกตามป่าเขานานถึง ๑๙ ปี จึงได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการคณะสงฆ์ ให้เดินทางไปประจำที่ จ.สุรินทร์ เพื่อบูรณะวัดบูรพาราม จัดการศึกษาด้านปริยัติธรรม และเผยแพร่ข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐานไปด้วยกัน หลวงปู่จึงได้พำนักอยู่ประจำที่ ณ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๗ จวบจนบั้นปลายชีวิตของท่าน นับตั้งแต่บัดนั้นมา แสงแห่งรัศมีของพระธรรม ทั้งทางปริยัติและทางปฏิบัติ ก็เริ่งฉายแสงรุ่งเรืองในจ.สุรินทร์และภาคอีสานตอนล่างตลอดมา โดยหลวงปู่รับภาระทั้งฝ่ายคันถธุระ และวิปัสนาธุระ บริหารงานพระศาสนาอย่างเต็มกำลังสามารถ
 
     ในปฏิปทาส่วนตัวของท่านนั้นไม่เคยละทิ้งกิจธุดงค์ บำเพ็ญเพียรทางใจอย่างสม่ำเสมอตลอดชั่วชีวิตของท่าน พร้อมทั้งให้การอบรมสมาธิภาวนาแก่ผู้สนใจปฏิบัติทั้งคฤหัสน์และบรรพชิต ด้วยเหตุที่หลวงปู่มีเมตตาธรรมสูง ท่านจึงให้การสงเคราะห์บุคคลทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ หลวงปู่มีสุขภาพพลานามัยดีเป็นเยี่ยม แข็งแรง ว่องไว ผิวพรรณผ่องใส มีเมตตาเป็นอารมณ์ สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ทำให้ผู้ใกล้ชิดและผู้ได้กราบไหว้เกิดความเคารพเลื่อมใสศรัทธาได้อย่างสนิทใจ
 
     หลวงปู่ดุลย์ อตุโล พระอริยเจ้าแห่ง จ.สุรินทร์ ได้ละเสียซึ่งสังขาร เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๖ สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี กับ ๒๖ วัน
อัฐิธาตุของท่านได้เก็บรักษาใว้ ให้สาธุชนได้สักการะที่ พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน ในวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ 


    *ข้อมูลจากหนังสือ หลวงปู่ฝากใว้ บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนาของ พระราชวุฒาจารย์(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) รวบรวมบันทึกใว้โดย พระโพธินันทมุนี

หน้า: [1]
ติดต่อผู้ดูแลเว็บ หรือ สนใจลงโฆษณา โทร ๐๘๖๒๒๒๐๐๕๕

อีเบย์ อุดรธานี ร่ม รับนำเข้าสินค้าจากจีน power bank กระบอกน้ำ ของพรีเมี่ยม แฟลชไดร์ฟ plc mitsubishi ปากกา taobao เฟอร์นิเจอร์ แหวนเพชร servo motor mitsubishi